อาการไอ เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยที่สุด นอกจากนี้อาการไอยังเป็นทางที่สำคัญในการแพร่กระจายของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การที่เราไอมากๆ จะทำให้เสียบุคลิกภาพในการอยู่ร่วมกับคนในสังคม ทำให้เป็นที่รังเกียจกับผู้อยู่ใกล้ชิด เพราะคิดว่าเป็นโรคไม่กล้าเข้าใกล้ นอกจากนี้ยังรบกวนเวลารับประทานอาหารหรือเวลานอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิท หากอยากหายจากอาการไอก็ควรที่จะทราบสาเหตุของการไอเสียก่อน และรักษาตามสาเหตุ

ลักษณะการไอ ลักษณะของเสียงไอ สามารถแบ่งจำแนกตามรูปแบบต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น

– ไอมีเสมหะ พบในภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง อันเป็นผลจากการที่ร่างกายมีการขับสารเมือก หรือสารคัดหลั่งออกมาในระบบหายใจ จนทำให้เกิดอาการไอร่วมกับมีเสมหะ
-ไอแห้ง เกิดจากการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนกระตุ้นให้เกิดการไอ โดยไม่มีเสมหะปน สาเหตุที่พบได้ เช่น ภาวะกรดไหลย้อน โรคหลอดลมอักเสบ ยาลดความดันโลหิตกลุ่มของ ACEi inhibitor และเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ COVID-19
-ไอเสียงก้อง พบในเด็ก เกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณกล่องเสียง และหลอดลม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่าโรคครูฟ คนไข้อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงแห้ง หายใจมีเสียง ไข้ ร่วมกับอาการไอเสียงก้อง


อาการไอที่ควรมาพบแพทย์ อาการไอสามารถแบ่งตามระยะเวลาได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ไอเฉียบพลัน คือ อาการไอที่น้อยกว่า 3 สัปดาห์
2. ไอกึ่งเฉียบพลัน คือ อาการไอตั้งแต่ 3 – 8 สัปดาห์
3. ไอเรื้อรัง คือ อาการไอต่อเนื่องที่มากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป

หากมีอาการไอเรื้อรังควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการร่วมดังต่อไปนี้

-ไอเป็นเลือด หรือไอมีเสมหะปนเลือด
-เสียงแหบ
-น้ำหนักลด
-มีอาการหอบเหนื่อยโดยเฉพาะขณะพัก
-มีประวัติป่วยเป็นโรคปอดอักเสบบ่อย ๆ
-กลืนลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ
-มีอาการสำลัก

แนวทางการรักษา
เนื่องจากอาการไอ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการรักษา จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการไอ และให้การรักษาตามสาเหตุนั้นๆ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง ก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาอาการไอได้มาก โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น สารก่อการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี ควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศเย็นจะกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการหดตัว ควรทำให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ กรณีที่สูบบุหรี่ ควรงดการสูบบุหรี่

อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าคนไข้รู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกาย หรือรู้สึกกังวลใจเรื่องอาการไอ แนะนำควรเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด นำไปสู่การวินิจฉัย และการรักษาอย่างเหมาะสม

 

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่  diasdetango.com